My Book Shelf : กุญแจเซ็น

zen_key2.jpgกุญแจเซ็น
Zen Keys

ติช นัท ฮันห์ …….. เขียน
พจนา จันทรสันติ … แปล

สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ ๙

๑๖๐ หน้า
ราคา ๑๕๐ บาท
ISBN ๙๗๔-๗๒๓๓-๔๗๙

งานเขียนของท่านผู้ประกาศสหสัมพันธ์แห่งสรรพสิ่ง
ท่านผู้สถาปนา ‘หมู่บ้านพลัม’
งานแปลของผู้รจนา ‘ขลุ่ยไม้ไผ่’
เสียงขลุ่ยที่แง้มบานประตูแห่งเซ็นให้ข้าพเจ้าได้แย้มยลโลกอีกโลกหนึ่ง
โลกที่จิตวิญญาณเสรีโบยบินไปกับปีกแมลงปอเหล่านั้น

จากกุญแจเซ็น
ถึงขลุ่ยไม้ไผ่

ได้พบเจอสิ่งใด?
เรามาไปด้วยกัน…

ส่วนหนึ่งจาก ‘บทนำ’

“…ในหนังสือ กุญแจเซ็น ยังชี้ให้เห็นว่า เซ็นในซีกโลกตะวันออกกำลังเสื่อมโทรมลง ด้วยเหตุมาแต่สงครามและการกระหน่ำอย่างหนักหน่วงของอารยธรรมแบบวัตถุนิยมและประยุกต์วิทยาตะวันตก

ในซีกโลกตะวันตกเริ่มเบื่อหน่ายและเห็นพิษภัยของ ‘ชีวิตที่สะดวกสบาย’ อันเป็นผลมาจากความหลงใหลในวัตถุและประยุกต์วิทยา นี่แหละเชื้อแห่งความสนใจในเซ็นจึงได้ถูกจุดขึ้น ด้วยได้ประจักษ์ชัดว่าประยุกต์วิทยาได้ก่อให้เกิด ‘เศรษฐทรัพย์ มากมายที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้เพียงน้อยนิด’ สำนักนี้เองทำให้เรากลายเป็นเฟืองที่หลุดออกมาจากกงจักร กงจักรซึ่งหมุนอยู่ได้ด้วยระบบคุณค่าแบบที่มิได้เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ แต่เห็นเป็นผู้เสพวัตถุ เห็นเป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้า

ถ้าหากว่าเซ็นจะสามารถหยั่งรากลึกลงในอเมริกา และกลับมีพลังแห่งชีวิตขึ้นมาในวิถีชีวิตของปัจเจกชนอเมริกันได้แล้วไซร้ เราก็ยังสามารถสลัดรูปแบบแห่งวัฒนธรรมตะวันออกที่สะสมพอกพูนอยู่ในเซ็น และพัฒนาเซ็นที่มีรูปแบบใหม่อันสอดคล้องกับวัฒนธรรมและสังคมของเราขึ้นมา นี่เป็นสิ่งที่ท่านติช นัท ฮันห์ และชาวตะวันออกผู้เผยแพร่เซ็นได้เน้นไว้…”

ฟิลิป กาโปล
เจ้าอาวาสและผู้อำนวยการศูนย์กลางเซ็น
โรเชสเตอร์ นิวยอร์ก

จากบทนำ
ขอเว้นส่วนกลางไว้ก่อน
เราไปดูท้ายเล่มกัน

ส่วนท้ายเป็นภาคผนวก ซึ่งท่านผู้แปล ได้นำ คำแปลปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร อันเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยความว่างหรือสูญญตาอันเป็นแก่นหลักของพุทธศาสนา
โฮโจกิ และ ชายโง่บนภูเขา เรื่องสั้นเกี่ยวกับชีวิตของท่านเรียวกัน ที่ท่านผู้แปลได้รจนาไว้มาปิดท้ายกุญแจเล่มนี้

ทั้งชายโง่บนภูเขาและ โฮโจกิ เป็นงานเขียนที่ข้าพเจ้าอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยากที่จะเลือกเรื่องใดมาสำแดง
เมื่อต้องตัดสินใจ ข้าพเจ้าเลือกเอา โฮโจกิมาบันทึกไว้สำหรับการระลึกถึงกุญแจเซ็นครานี้

ท่านผู้แปลกล่าวไว้ใน ‘เชิงอรรถ’ ถึง โฮโจกิว่า

“โฮโจกิ เป็นบันทึกสั้น ๆ ที่พระนักพรตชื่อ กาโม่ โน โชเม เขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๒๑๒ โชเมได้ไปอาศัยอยู่ในป่าลึก แสวงหาความสงัดและความวิเวกจากธรรมชาติ ท่านได้เขียนโฮโจกิขึ้นก่อนถึงแก่กรรมสี่ปี โฮโจกิเป็นข้อเขียนสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งกินใจ แสดงถึงอรรถธรรมและรสแห่งความสงบสันโดษอย่างลึกซึ้ง”

เราไปเยือนกระท่อมซอมซ่อที่พำนักแห่งท่านโชเม

โฮโจกิ

สายน้ำไหลหลั่งไปไม่มีเหือดแห้ง
ระลอกคลื่นแปรเปลี่ยนเวียนวน
ฟองคลื่นล่องลอยไป
บัดเดี๋ยวปรากฏขึ้น บัดเดี๋ยวจางหาย
คล้ายกับผู้คนและบ้านเรือนในโลกนี้
บางทีเราอาจคิดว่าเคหะสถานใหญ่น้อยซึ่งมีหลังคาเบียดเสียดชิดกัน
บ้านเรือนทีมีหลังคาละเอียดอ่อนและที่มีหลังคาโอ่โถงในนครหลวง
จะไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยจากชั่วอายุคนหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง

แต่เมื่อเรามองดูจริง ๆ แล้ว เราจะเห็นว่าบรรดาบ้านเรือนแต่โบราณที่ยังหลงเหลืออยู่นั้นมีไม่มากเลย บ้างก็ถูกไฟไหม้ไปเมื่อปีก่อน และถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ปราสาทหลังโอฬารกลายเป็นซากกองอิฐหิน และผู้คนที่อาศัยอยู่ก็ได้ตายตกไปหมดสิ้นแล้ว

ในนครหลวงก็เช่นกัน มีผู้คนอาศัยอยู่มากเท่าใดก็ยังมีอยู่มากเช่นนั้น แต่ในจำนวนคนซึ่งข้าพเจ้ารู้จัก ๒๐ คน อาจมีเพียงสองคนเท่านั้นที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ผู้คนในโลกนี้บ้างก็สิ้นชีวิตไปในยามเช้า บ้างก็ถือกำเนิดขึ้นมาในยามเย็น เกิด-ดับ คล้ายดั่งฟองคลื่นบนผิวน้ำ

บรรดาผู้ที่เกิดและตายนี้ เขามาจากไหนและจะไปสู่หนใดเล่า
เขาทนลำบากตรากตรำเพื่อสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเดียวด้วยเหตุผลใดกันเล่า
หรือเป็นเพราะว่าเพียงสร้างเอาไว้สำหรับมองดูให้เกิดความเปรมปรีดิ์กระนั้นหรือ
นี่เราก็ไม่ทราบอีกเช่นกัน ใครเล่าจะสิ้นสลายไปก่อนกัน เจ้าของบ้านหรือบ้านเรือน

นี่อาจจะเป็นคำถามเดียวกันกับที่เราถามเรื่องหยาดน้ำค้างบนดอกผักบุ้งฝรั่ง น้ำค้างอาจหยดหยาดลงสู่พื้นและดอกไม้จะคงอยู่ คงอยู่เพื่อที่จะเหี่ยวแห้งไปในแสงอาทิตย์ยามเช้า หรือไม่ดอกไม้ก็อาจเหี่ยวไปก่อนที่น้ำค้างจะระเหยหายและแม้น้ำค้างจะยังไม่ละเหยหายไป แต่ก็จะไม่คงอยู่นานจนถึงยามเย็นเป็นแน่

บัดนี้ข้าพเจ้าอายุได้ ๖๐ ปีแล้ว ชีวิตคงจะสิ้นไปดังหยาดน้ำค้างในเวลาไม่ช้านัก ข้าพเจ้าได้สร้างกระท่อมขึ้นสำหร้บช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต มันเป็นกระท่อมซึ่งอาจให้คนเดินทางแวะพักสักคืน คล้ายกับรังไหมที่ถูกชักใยขึ้นโดยหนอนไหมแก่ ๆ กระท่อมหลังนี้ใหญ่ไม่ถึงหนึ่งในร้อยของบ้านเรือนซึ่งข้าพเจ้าเคยอยู่มาก่อนเมื่อวัยกลางคน

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะรู้ตัว ข้าพเจ้าก็กลับชราลงแล้ว และทุกครั้งข้าพเจ้าก็จะเปลี่ยนกระท่อมหลังใหม่ เปลี่ยนกระท่อมครั้งใดก็ยิ่งเล็กไปกว่าเดิมทุกครั้ง และกระท่อมที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่เดี๋ยวนี้นับว่ามีรูปทรงผิดแปลกไปจากธรรมดา มีพื้นที่ไม่ถึงสิบตารางฟุต สูงไม่เกินเจ็ดฟุต

ในการปลูกทับกระท่อม ข้าพเจ้ามิได้เจอะจงเลือกหาที่ทางที่เหมาะสม ทั้งมิได้ขอคำปรึกษาจากผู้วิเศษ(๑)ในเรื่องสถานที่ปลูกเรียนแต่อย่างใด ข้าพเจ้าทำพื้นกระท่อมและมุงหลังคาอย่างหยาบ ๆ แขวนตะเกียงไว้ดวงหนึ่ง เพื่อช่วงส่องแสงสว่างให้ความสะดวกในการเคลื่อนไหวในเวลากลางคืน กระท่อมหลังนี้ทำการเคลื่อนย้ายได้ไม่ยากเลย ใช้เกวียนเพียงสองเล่มก็บรรทุกบ้านไปได้ทั้งหลัง และนอกจากเงินเพียงเล็กน้อยที่จะจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่คนขับเกวียนแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่มีทรัพย์สมบัติใด ๆ อีก

ตั้งแต่แรกที่ข้าพเจ้าเร้นกายอยู่ ณ ที่นี้ ณ ส่วนลึกแห่งขุนเขาฮิโน ข้าพเจ้าได้สร้างเพิงต่อเติมออกไปทางด้านทิศใต้ของกระท่อม พร้อมด้วยซุ้มประตูไม้ไผ่ทางด้านตะวันตก ข้าพเจ้าสร้างหิ้งสำหรับไว้น้ำศักดิ์สิทธิ์

ภายในกระท่อมทางผนังด้านตะวันตก ข้าพเจ้านำรูปพระอมิตาภาพุทธมาประดิษฐานไว้ที่ซึ่งดวงอาทินย์ยามอัสดงจะฉายรังสีเฉกฉัน ณ หว่างพระอุณาโลมของพระพุทธรูป บนบานประตูของศาลเล็ก ๆ ที่ประดิษฐ์พระอมิตภาพุทธนั้น ข้าพเจ้าแขวนรูปฟูเก็น สมันตภัทรโพธิสัตว์ (โพธิสัตว์แห่งความกรุณา อยู่ในอันดับสูงสุดของบรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย) และรูปฟูโด เมียว (อกาลนาถา – มหาเทพารักษ์) ไว้เหนือบานประตูซึ่งหันไปทางทิศเหนือ

ข้าพเจ้าได้สร้างชั้นเล็ก ๆ ซึ่งวางตะกร้าหนังสามสี่ใบอยู่ ในตะกร้าบรรจุหนังสือต่าง ๆ มีหน้งสือกวีนิพนธ์ ดนตรี และคัมภีร์พระสูตร ฯลฯ ถัดไปก็มีเครื่องดนตรี ได้แก่ พิณและตะเข้

นี่คือสมบัติพัสถานบรรดามีภายในกระท่อม

คราวนี้จะพูดถึงสภาพแวดล้อมของที่นี่ต่อไป ทางด้านใต้มีรางไม้ไผ่ซึ่งใช้รองน้ำต่อมาสู่บ่อหินที่ข้าพจ้าได้สร้างขึ้น ป่าก็ติดอยู่กับกระท่อม สะดวกที่จะเข้าป่าหาไม้มาทำฟืน ยอดเขายอดนี้เรียกว่าโตยามา มีเถาวัลย์ไม้เลื้อยอยู่หนาทึบริมทาง และมีต้นไม้รกทึบอยู่ในหุบเขาแต่ทางด้านตะวันตกค่อนข้างโปร่ง สภาพแวดล้อมที่นี่ก่อให้เกิดความรู้สึกลึกซึ้งทางจิตใจมาก(๒)

พอถึงฤดูใบไม้ผลิก็มีดอกวิสเทเรียสีม่วงนับพันนับหมื่นดอก เป็นคลื่นพลิ้วคล้ายดังเมฆสีม่วงทอง ทางทิศตะวันตก ในฤดูร้อน ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงร้องของนกฮูกเป็นพันธสัญญาว่า มันจะนำทางข้าพเจ้าไปบนหนทางของผู้ตายอันมืดมิด(๓) ในฤดูใบไม้ร่วง ก็เต็มไปด้วยเสียงของหมู่แมลงกรีดร้องในยามเย็น เสียงเหล่านี้ดังก้องโสตประสาทของข้าพเจ้า ดังเสียงคร่ำครวญในโลกที่เปรียบเสมือนเปลือกห่อหุ้มร้าว ๆ นี้

ในฤดูหนาว ข้าพเจ้าก็เฝ้ามองดูหิมะสีขาวด้วยอารมณ์ที่นิ่งงันและลึกซึ้ง หิมะเหล่านั้นกองสุมอยู่บนพื้น ครั้นแล้วก็ละลายหายไป คล้ายกับบาปและพันธนาการซึ่งได้รับการชำระล้าง เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อหน่ายในการที่จะเอ่ยนามพระอมิตภาพุทธ (โดยการสวดว่า “นะโม อมิตา พุทธะ ขอสรรเสริญแด่องค์พระอมิตาภาพุทธเจ้า) หรือเมื่อเบื่อที่จะอ่านพระสูตรด้วยใจและด้วยสติ ก็ไม่มีใครอาจจะมาตำหนิข้าพเจ้าได้ในการที่ข้าพเจ้าจะหยุดพัก

ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ได้ถือสันโดษธรรม แต่การอยู่คนเดียวอย่างธรรมชาติ ช่วยให้ข้าพเจ้าพ้นจากการเอ่ยวาจาอันเป็นบาปโทษได้ และถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่ได้พยายามที่จะปฏิบัติตามศีลและวินัยเลยแต่การอยู่คนเดียวในกลางป่าและแวดล้อมด้วยขุนเขา จะมีกิเลสที่ไหนมาล่อลวงข้าพเจ้าให้ทำผิดศีลได้เล่า

ในยามเช้าบางครั้ง เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนฟองคลื่นสีขาวที่เกิดจากเรือน้อยแล่นฝ่าผิวน้ำ(๔) ข้าพเจ้าก็จะไปยังริมฝั่งน้ำเฝ้ามองดูเรือที่แล่นเคลื่อนคล้อยผ่านไปและแต่งบทกวี เหมือนดังที่พระภิกษุมันเชยได้เคยกระทำเมื่อครั้งโบราณ หรือถ้าหากว่าลมอ่อนยามเย็นโชยพัดใบเมเปิ้ลจนส่งเสียงหวีดหวิว ข้าพเจ้าก็จะหวนระลึกไปถึงแม่น้ำอินโย ข้าพเจ้าก็จะดีดตะเข้เหมือนดังมินาโมโต โน สุเนโนบุ(๕) และถ้าความรู้สึกดื่มด่ำนี้ยังหนุนเนื่องอยู่ในดวงใจไม่ขาดสาย ข้าพเจ้าก็จะกรีดสายตะเข้ด้วยท่วงทำนองเสียงสะท้อนก้องของต้นสน และบรรเลง ‘บทเพลงแห่งสมฤดูใบไม้ร่วง’ หรือไม่ก็บรรเลงเพลง ‘ลีลาแห่งสายน้ำไหล’ อันเป็นบทเพลงที่มีเสียงดังสายน้ำ

บทเพลงเหล่านี้ข้าพเจ้าไม่ได้เล่นให้ผู้อื่นฟัง ข้าพเจ้าเล่นเพียงเดียวดาย ข้าพเจ้าขับร้องบทเพลง และนี่คือความปิติอันยิ่งใหญ่ในดวงใจของข้าพเจ้า

บางครั้งข้าพเจ้าก็เก็บดอกหญ้าป่าบางครั้งก็เก็บลูกสาลี่หรือลูกเบอร์รี่บรรจุในตะกร้า บางครั้งข้าพเจ้าก็เก็บใบไม้หอม บางคราข้าพเจ้าก็จะเลยไปยังทุ่งเชิงเขา ร้อยพวงมาลัยด้วยรวงข้าวที่ร่วงหล่นอยู่

เมื่อข้าพเจ้าแข็งแรงดี และพร้อมที่จะออกท่องเที่ยวสัญจร ข้าพเจ้าก็จะไต่เขาไปไหว้พระที่วิหารอิวามาหรือที่อิชิยามาหรือเดินฝ่าป่าไปยังอาวากะ เพื่อไปนมัสการกระท่อมน้อยของเซมินารุ(๖) และข้ามฝั่งไปไหว้สุสานของท่านที่แม่น้ำทานากามิ และตอนขากลับหากตรงกับฤดูกาลดอกซากุระบาน ข้าพเจ้าก็จะไปเฝ้าชื่นชมมองดูความงามของดอกซากุระ หรือเฝ้ามองใบไม้ร่วงหล่น ในฤดูใบไม้ร่วงก็เก็บหน่อเฟอร์หรือผลไม้ป่าเพื่อนำไปถวายแด่พระพุทธเจ้าและสำหรับข้าพเจ้าได้ใช้เอง

(๑) เมื่อจะมีการสร้างบ้านหลังใหม่ ผู้วิเศษหยิน-หยางจะถูกเชิญให้มาเป็นผู้ดูทางว่าดีร้ายอย่างไร เพื่อแสวงหาที่ดี ๆ ในการปลูกเรือน แต่โชเมเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาดังนั้นจึงไม่สนใจในเรื่องเช่นนั้น
(๒) นี่คือภาพพจน์ที่กาโมสร้างขึ้น เปรียบเทียบกับทิศตะวันตกที่แจ่มกระจ่างนั้นก็คือ ที่ตั้งของแดนสุขาวดีตะวันตกของพระอมิตาภาพุทธซึ่งประดับด้วยเมฆสีม่วงทอง
(๓) นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำทางให้แก่คนตาย
(๔) ‘ฟองคลื่นสีขาว ทางยาวของร่องเรือน้อย’ คือคำพูดที่อยู่ในบทกวีของพระมันเชย
(๕) นี่คล้ายกับเพลงขลุ่ยของโปจูอี้ สำหรับมินาโมโต สุเนโนบุ (มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. ๑๐๑๖ – ๑๐๙๗) เป็นนักดนตรีและกวีผู้มีชื่อเสียง
(๖) เซมินารุ เป็นกวีที่โด่งดังในสมัยเฮอัน ท่านยังเป็นพระและฤษี

(มีต่อ)

About ธุลีดิน

just wanna write and live simple life am I a dreamer ?

Posted on กุมภาพันธ์ 21, 2007, in My Book Shelf. Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.

การแสดงความเห็นถูกปิด